Print
Parent Category: เอกสาร-หนังสือเวียน
Hits: 5938

Image

ที่ มท 0905/ว 2

กรมราชทัณฑ์
222 ถ.นนนทบุรี 1 ต.สวนใหญ่
อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000

11 มกราคม 2543


เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจกรณีการให้บุคคลธรรมดาตรวจค้นบุคคลภายนอกที่มาเยี่ยมผู้ต้องขัง

เรียน ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บัญชาการเรือนจำ และผู้อำนวยการทัณฑสถาน สถานกักขัง และสถานกักกัน

สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาข้อบังคับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2479

เรื่อง การเยี่ยมเยียนและติดต่อของบุคคลภายนอกต่อผู้ต้องขัง

ด้วยปรากฎว่าได้มีเรือนจำและทัณฑสถานบางแห่ง ได้ทำการจ้างบุคคลธรรมดาที่เป็นหญิง มาทำการตรวจค้นญาติผู้ต้องขังที่เป็นหญิงในงานวันพบญาติ โดยใช้เงินร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขังเป็นค่าตอบแทน เนื่องจากอัตรากำลังเจ้าหน้าที่สำหรับตรวจค้นไม่เพียงพอ โดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฉบับที่ 1 ข้อ 4 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2479 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่มีข้อสงสัยว่า บุคคลภายนอกที่มาขออนุญาตหรือได้รับอนุญาตให้เยี่ยมแล้วมีสิ่งของหรือเงินผิดด้วยข้อความที่กำหนดไว้ในข้อก่อน พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจขอดูหรือขอตรวจค้นได้ หากบุคคลภายนอกนั้นเป็นหญิง พนักงานเจ้าหน้าที่จะขอให้ผู้นั้นแสดงเอง หรือจัดหญิงอื่นที่ควรเชื่อถือทำการตรวจค้นแทนก็ได้ มาอนุโลมใช้ในการปฏิบัติงานดังกล่าว

กรมราชทัณฑ์พิจารณาเห็นว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง จึงขอซักซ้อมความเข้าใจถึงขอบเขตอำนาจตามข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง กรณีการให้บุคคลธรรมดาทำการตรวจค้นบุคคลภายนอกที่มาขออนุญาตหรือได้รับอนุญาตให้เยี่ยมแทนเจ้าพนักงาน ดังนี้

(1) อำนาจหน้าที่ในการตรวจค้นญาติผู้ต้องขังหรือบุคคลภายนอกที่มาขออนุญาตหรือได้รับอนุญาตให้เยี่ยมนั้น เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อบังคับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฉบับที่ 1 ข้อ 12 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2479 ออกตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479

(2) พนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อบังคับนี้ คือ พัศดีหรือเจ้าพนักงานเรือนจำที่พัศดีมอบหมายให้มีหน้าที่ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (16) พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ให้รวมทั้งพัศดี

(3) เมื่ออำนาจหน้าที่ดังกล่าวเป็นของเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายได้ให้อำนาจไว้ การจ้างหรือมอบอำนาจให้เอกชนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ใช้อำนาจรัฐตามกฎหมายกระทำการแทนเจ้าพนักงานของรัฐ ดำเนินการตรวจค้นต่อบุคคลธรรมดาเช่นเดียวกันไม่อาจจะกระทำได้ เพราะเป็นการมอบอำนาจให้เอกชนมีอำนาจเหนือเอกชนด้วยกัน ซึ่งอำนาจดังกล่าวมีได้เฉพาะเจ้าพนักงานของรัฐเท่านั้น ที่จะมีอำนาจกระทำเหนือบุคคลธรรมดาได้

(4) ตามข้อบังคับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฉบับที่ 1 ข้อ 4 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2479 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่มีขอสงสัยว่าบุคคลภายนอกที่มาขออนุญาต หรือได้รับอนุญาตให้เยี่ยมแล้ว มีสิ่งของหรือเงินผิดด้วย

ข้อความที่กำหนดไว้ในข้อก่อน พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจขอดูหรือขอตรวจค้นได้ หากบุคคลภายนอกนั้นเป็นหญิง พนักงานเจ้าหน้าที่จะขอให้ผู้นั้นแสดงเองหรือจัดหญิงอื่นที่ควรเชื่อถือทำการตรวจค้นแทนก็ได้ นั้น หมายถึง การจัดหญิงอื่นที่ควรเชื่อถือให้ช่วยเหลือทำการตรวจค้นแทนพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้นั้นก็อยู่ในขณะทำการค้นด้วย ซึ่งการค้นในกรณีเช่นนี้ จะต้องเกิดจากความจำเป็นเร่งด่วนเป็นครั้งคราวเท่านั้น กฎหมายมิได้ให้อำนาจถึงขนาดจ้างบุคคลธรรมดามาปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจรัฐแทนเจ้าพนักงานตามกฎหมายได้

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และขอได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบและถือปฏิบัติต่อไปด้วย จักขอบคุณยิ่ง
ขอแสดงความนับถือ
(ลงชื่อ)สมบูรณ์ ประสพเนตร
(นายสมบูรณ์ ประสพเนตร)
รองอธิบดีปฎิบัติราชการแทน
อธิบดีกรมราชทัณฑ์


สำนักทัณฑวิทยา
ส่วนมาตรการควบคุมผู้ต้องขัง
โทร 967-3380
โทรสาร 967337


ข้อบังคับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฉบับที่ 1

เรื่อง การเยี่ยมเยียนและติดต่อของบุคคลภายนอกต่อผู้ต้องขัง



เพื่ออนุวรรตให้เป็นไปตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 อธิบดีกรมราชทัณฑ์ออกข้อบังคับไว้ดั่งต่อไปนี้

ข้อ 1 บุคคลภายนอกเมื่อประสงค์จะเยี่ยมเยียนหรือติดต่อด้วยตนเองกับผู้ต้องขังต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน จึงเยี่ยมเยียนหรือติดต่อได้

ข้อ 2 การเยี่ยมหรือติดต่อดังกล่าวมาในข้อ 1 นั้น เว้นเสียแต่ทนายซึ่งมาในหน้าที่เกี่ยวกับคดีของผู้ต้องขัง บุคคลภายนอกจะเยี่ยมเยียน หรือติดต่อกับผู้ต้องขังได้แต่เฉพาะผู้ต้องขังที่ได้รับโอกาสให้รับการเยี่ยมเยียน และติดต่อจากบุคคลภายนอก กับทั้งจะเยี่ยมหรือติดต่อได้ก็แต่ในวันและระหว่างเวลาที่ทางการเรือนจำกำหนดไว้

ทนายซึ่งมาด้วยเรื่องคดีของผู้ต้องขัง จะเยี่ยมเยียนหรือติดต่อด้วยตนเองกับผู้ต้องขังได้ทุกวันและทุกเวลา ระหว่าง 8.00 นาฬิกา เว้นแต่วันหยุดราชการ หากมีเหตุผลพิเศษจำต้องพบปะผู้ต้องขังนอกวันเวลาที่กล่าวแล้ว ให้ขออนุญาตผู้บัญชาการเรือนจำ เมื่อผู้บัญชาการเรือนจำเห็นมีเหตุผลสมควร ให้อนุญาตให้พบ แต่ต้องไม่ใช่ระหว่างเวลาที่ทางราชการเรือนจำได้นำผู้ต้องขังเข้าห้องขังแล้ว และยังมิได้นำออกจากห้องขัง

ทนายความนั้น ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่รู้จัก จะต้องแสดงหลักฐานในการเป็นทนาย

ข้อ 3 บุคคลภายนอกที่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมเยียน หรือติดต่อกับผู้ต้องขังนั้น จะนำเงินหรือสิ่งของซึ่งมิต้องห้ามเข้ามา หรือนำออกจากเรือนจำหรือส่งมอบให้ หรือรับจากผู้ต้องขังโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนไม่ได้

สิ่งของต้องห้ามนั้น กฎหมายกำหนดไว้โดยเด็ดขาดแล้ว

ข้อ 4 ในกรณีที่มีข้อสงสัยว่า บุคคลภายนอกที่มาขออนุญาต หรือได้รับอนุญาตให้เยี่ยมแล้ว มีสิ่งของหรือเงินผิดด้วยข้อความที่กำหนดไว้ในข้อก่อน พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจขอดูหรือขอตรวจค้นได้ หากบุคคลภายนอกนั้นเป็นหญิง พนักงานเจ้าหน้าที่จะขอให้ผู้นั้นแสดงเองหรือจัดหญิงอื่นที่ควรเชื่อถือทำการตรวจค้นแทนก็ได้

ข้อ 5 สิ่งของซึ่งผู้มาเยี่ยมเยียน หรือติดต่อกับผู้ต้องขัง นำมาเพื่อส่งมอบให้ผู้ต้องขังนั้น ต้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจก่อน หากเป็นสิ่งของอนุญาติก็จะยอมจัดส่งมอบให้แก่ผู้ต้องขัง หากเป็นสิ่งของซึ่งมิใช่ของต้องห้าม หรือเป็นสิ่งของที่อนุญาตให้ผู้ต้องขังนำเข้ามาหรือเก็บรักษาไว้ในเรือนจำ แต่เป็นสิ่งของที่ทางการเรือนจำผ่อนผันยอมเก็บรักษาไว้ให้แก่ผู้ต้องขัง พนักงานเจ้าหน้าที่จะเก็บรักษาไว้ให้แก่ผู้ต้องขัง หากเป็นสิ่งของที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าจะจัดส่งมอบแก่ผู้ต้องขัง หรือรับเก็บรักษาไว้ให้แก่ผู้ต้องขังไม่ได้ ผู้นำมาจะต้องนำเอาสิ่งของนั้นออกไปจากเรือนจำ ถ้าไม่นำเอาออกไป พนักงานเจ้าหน้าที่จะนำเอาออกไปไว้นอกเรือนจำ และในกรณีนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ และทางการเรือนจำจะไม่รับผิดชอบแต่อย่างใด

ข้อ 6 บุคคลภายนอกที่มาเยี่ยมเยียนหรือติดต่อกับผู้ต้องขังด้วยตนเองนั้น จักต้องอยู่ในเขตที่ทางการเรือนจำกำหนดให้เป็นที่เยี่ยมเยียนหรือติดต่อ

ข้อ 7 ห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมเยียนหรือติดต่อกับผู้ต้องขังพูดจา หรือให้อาณัติสัญญาณอย่างใด ๆ แก่ผู้ต้องขัง เพื่อกระทำผิดกฎหมายหรือวินัยของผู้ต้องขัง

ข้อ 8 ผู้ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมเยียนหรือติดต่อกับผู้ต้องขัง ต้องพูดภาษาไทย และออกเสียงให้ดัง พอที่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งควบคุมอยู่ ณ ที่นั้นได้ยิน จะพูดภาษาอื่นได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว

ถ้าผู้ได้รับอนุญาตในวรรคก่อน เป็นทนายมาในเรื่องคดีของผู้ต้องขัง ต้องการจะสงวนข้อความที่พูดกับผู้ต้องขังเป็นความลับก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน ในกรณีนั้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้อยู่ควบคุม ออกไปควบคุมอยู่ในระยะที่จะไม่ได้ยินการพูดจาก

ข้อ 9 บุคคลภายนอกที่มารอเยี่ยมเยียนหรือติดต่อมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมเยียนหรือติดต่อกับผู้ต้องขัง

1. มีอาการแสดงว่าเสพสุรามึนเมา น่าจะก่อความรำคาญหรือความไม่เรียบร้อย

2. มีเหตุผลอันควรเชื่อว่า ถ้าอนุญาตให้เยี่ยมเยียน หรือติดต่อกับผู้ต้องขังได้ จะก่อการร้ายให้เกิดขึ้น

3. แต่งกายผิดปกตินิยมในท้องถิ่นที่เรือนจำนั้นตั้งอยู่ หรือสกปรกอย่างร้ายแรง

4. ไม่มีกิจเกี่ยวข้อง หรือรู้จักเป็นญาติมิตรกับผู้ต้องขัง

5. มีกิริยาวาจาไม่สุภาพ

ข้อ 10 ผู้ไม่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมเยียน หรือติดต่อกับผู้ต้องขัง หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมเยียน หรือติดต่อกับผู้ต้องขัง แต่กระทำผิดข้อใดข้อหนึ่งแห่งข้อบังคับนี้ เจ้าพนักงานเรือนจำมีอำนาจกีดกันหรือเชื้อเชิญให้ออกไปจากเรือนจำ หากขัดขืนเจ้าพนักงานเรือนจำมีอำนาจใช้กำลังพอสมควรที่จะให้ออกไปพ้นจากเรือนจำได้

ข้อ 11 เมื่อบุคคลภายนอก ที่ต้องการเยี่ยมเยียน หรือติดต่อกับผู้ต้องขังเห็นว่า พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานเรือนจำปฏิบัติไม่ชอบ มีสิทธิจะร้องเรียนต่อผู้บัญชาการเรือนจำ

ข้อ 12 พนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อบังคับนี้ คือ พัศดี หรือพนักงานเรือนจำที่พัศดีมอบหมายให้มีหน้าที่

ข้อ 13 ให้ผู้บัญชาการเรือนจำตรวจตราควบคุมให้การเป็นไปตามข้อบังคับนี้

ข้อ 14 ให้ใช้ข้อบังคับนี้ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2479 เป็นต้นไป

ข้อบังคับให้ไว้ ณ วันที่ 24 มีนาคม พุทธศักราช 2482
(ลงชื่อ) เชวงศักดิ์สงคราม
อธิบดีกรมราชทัณฑ์