Print
Parent Category: เอกสาร-หนังสือเวียน
Hits: 6171

Image

ที่ มท 0911/ว 4

กรมราชทัณฑ์
222 ถนนนนทบุรี 1 ตำบลสวนใหญ่
อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000

12 มกราคม 2544


เรื่อง การได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2542

เรียน ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถาน สถานกักกัน และสถานกักขัง

สิ่งที่ส่งมาด้วย

1. สำเนาหนังสือผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ด่วนที่สุด ที่ ผร 23/464ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2543

2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. 2542

3. มาตรา 16

ด้วยกรมราชทัณฑ์ได้รับแจ้งจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ของรัฐสภาว่า มีนักโทษเด็ดขาดชายจำนวนสี่ราย ซึ่งต้องโทษอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม ได้มีหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบ การพระราชทานอภัยโทษของเรือนจำกลางคลองเปรม เป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ
พ.ศ.2542 ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้ตรวจสอบไปยังเรือนจำกลางคลองเปรม ปรากฎว่า นักโทษเด็ดขาดชายทั้งสี่ราย ต้องโทษในคดีความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฐานมีเมทแอมเฟตามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานนำเข้ายาเสพติดให้โทษ (โคคาอีน) เข้ามาในราชอาณาจักร คณะกรรมการตรวจสอบการพระราชทานอภัยโทษตามมาตรา 13 แห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2542 มีมติไม่ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เนื่องจากนักโทษเด็ดขาดชายทั้งสี่รายไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษตามมาตรา 10(1)

ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาพิจารณาแล้ว เรื่องดังกล่าวเป็นกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบ การพระราชทานอภัยโทษของเรือนจำ กลางคลองเปรม ได้ดำเนินการไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้แห่งพระราชกฤษฎีกาพระราช ทานอภัยโทษ พ.ศ. 2542 แล้ว กรณีดังกล่าวจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามมาตรา 16(1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. 2542 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจึงมีคำสั่งยุติเรื่อง และขอให้กรมราชทัณฑ์ แจ้งให้เรือนจำกลางคลองเปรมและเรือนจำอื่นได้ชี้แจงให้ นักโทษได้เข้าใจ เพื่อจะได้ไม่เป็นการเสียเวลา และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายของผู้ร้องและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ปรากฎตามสิ่งที่ส่งมาด้วย

กรมราชทัณฑ์ขอเรียนว่า การพิจารณาตรวจสอบว่า นักโทษเด็ดขาดรายใด จะเป็นผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2542 นั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบการพระราชทานอภัยโทษ ตามมาตรา 13 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว หากนักโทษเด็ดขาดรายใด หรือผู้ที่มีประโยชน์ เกี่ยวข้องเห็นว่าการไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เป็นการไม่ถูกต้องตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2542 ก็สามารถที่จะยื่นคำร้องพร้อมแสดงเหตุผลเพื่อขอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาทบทวนใหม่ หรือจะยื่นคำร้องมายังกรมราชทัณฑ์เพื่อตรวจสอบให้ก็ได้

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และขอได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติ โดยชี้แจงให้นักโทษเด็ดขาดได้เข้าใจต่อไป

ขอแสดงความนับถือ
(ลงชื่อ)นัทธี จิตสว่าง
(นายนัทธี จิตสว่าง)
รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทน
อธิบดีกรมราชทัณฑ์


กองนิติกร
ฝ่ายอภัยโทษ
โทร.9673361
โทรสาร 9673360


Image


ด่วนที่สุด
ที่ ผร 23/464

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
อาคารทิปโก้ ชั้น 20 ถนนพระราม 6
พญาไท กทม.10400

14พฤศจิกายน 2543


เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
เรียน อธิบดีกรมราชทัณฑ์

อ้างถึง 1. หนังสือกรมราชทัณฑ์ ด่วนที่สุด ที่ มท 0911/3127 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2543
2. หนังสือกรมราชทัณฑ์ ด่วนที่สุด ที่ มท 0911/3269 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2543

ตามหนังสือที่อ้างถึง กรมราชทัณฑ์ได้แจ้งว่า การได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2542 ของผู้ต้องขัง จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ โดยมีคณะกรรมการตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา (มาตรา 13) พิจารณา แล้วเสนอรายชื่อต่อศาลแห่งท้องที่ เพื่อพิจารณาออกหมายลดโทษหรือหมายปล่อยแล้วแต่กรณี สำหรับนักโทษทั้งสี่รายนั้น คณะกรรมการดังกล่าว ได้พิจารณาแล้วมีมติไม่ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษตามมาตรา 10(1) ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าว เป็นกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบการพระราชทานอภัยโทษของเรือนจำ กลางคลองเปรม ได้ดำเนินการไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้แห่งพระราชกฤษฎีกาพระราช ทานอภัยโทษ พ.ศ.2542 แล้ว กรณีดังกล่าวจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามมาตรา 16(1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ.2542 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา จึงมีคำสั่งยุติเรื่อง

อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัจจุบัน ได้มีนักโทษยื่นหนังสือร้องเรียน ต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในกรณีดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อมิให้เป็นการเสียเวลา และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายของผู้ร้องเรียน และหน่วยงานที่รับผิดชอบ จึงขอความร่วมมือกรมราชทัณฑ์ได้แจ้งให้เรือนจำกลางคลองเปรม และเรือนจำอื่น ๆ ได้อบรมชี้แจงให้ความรู้เรื่องดังกล่าวแก่นักโทษ และผู้เกี่ยวข้องทราบ

จึงเรียนมาเพื่อทราบ และดำเนินการตามควรแก่กรณีต่อไป

ขอแสดงความนับถือ
(ลงชื่อ)พิเชต สุนทรพิพิธ
(นายพิเชต สุนทรพิพิธ)
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา


ฝ่ายตรวจสอบเรื่องร้องเรียน
โทร.357-3100 ต่อ 3212, 3214
โทรสาร 357-3100 ต่อ 3215

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ.2542


มาตรา 16 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณ๊
(ก) การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
(ข) การปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนหรือประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ก็ตาม
(ค) กรณีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

(2) จัดทำรายงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐสภา