“กรมราชทัณฑ์ แจง การลดวันต้องโทษ พักโทษ เป็นแนวทางบริหารโทษให้ผู้ต้องขังอยู่ในระเบียบวินัย ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโทษ ชี้ ดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมาย มิได้มีอำนาจเหนือศาล”
วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2565 กรมราชทัณฑ์ ชี้แจง การปล่อยตัวผู้ต้องขังก่อนครบกำหนดโทษ หรือการลดหย่อนผ่อนโทษ เป็นเครื่องมือที่กรมราชทัณฑ์ใช้ในการบริหารโทษ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ต้องขังประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัย และพร้อมพัฒนาพฤตินิสัยเพื่อกลับตนเป็นพลเมืองดีภายหลังพ้นโทษ ซึ่งแนวทางดังกล่าว เป็นหลักการสากลในปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดและใช้ในกระบวนการยุติธรรมทั่วโลกภายใต้กรอบของกฎหมายที่กำหนด
สำหรับประเทศไทย การปล่อยตัวผู้ต้องขังก่อนครบกำหนดโทษ หรือการลดหย่อนผ่อนโทษให้แก่ผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ นั้น มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังก่อนกำหนด 2 รูปแบบด้วยกัน คือ 1.การลดวันต้องโทษจำคุก 2.การพักการลงโทษ
โดย 2 รูปแบบแรก คือ การลดวันต้องโทษและการพักการลงโทษ นั้น เป็นการปล่อยตัวก่อนกำหนด เพื่อให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาสในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมภายนอกสักระยะหนึ่ง ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวตามกำหนดโทษ โดยจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการคุมประพฤติภายในระยะเวลาที่เหลืออยู่ในกำหนดโทษตามหมายศาล และจะต้องถูกติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) หากในระหว่างที่ได้รับ การปล่อยตัวมีการประพฤติผิดเงื่อนไขคุมประพฤติหรือไปกระทำความผิดอีก ก็จะถูกนำตัวกลับเข้าคุมขังเท่ากับกำหนดโทษที่ยังเหลืออยู่ตามหมายศาล ดังนั้น การปล่อยตัวลดวันต้องโทษและการพักการลงโทษ จึงมิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงกำหนดโทษตามหมายศาลแต่อย่างใด และในการดำเนินการพิจารณากรณีดังกล่าว จะต้องมีผู้แทนจากหน่วยงานภายนอก อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน ปปส. กรมการปกครอง ฯ เป็นคณะกรรมการร่วมกันพิจารณาตรวจสอบอีกด้วย
**** *** *****