“คณะกรรมการราชทัณฑ์ เห็นชอบร่างกฎกระทรวง ระบบการจัดชั้น การกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาดฯ เพิ่มหลักการคงชั้น รักษาชั้น รวมถึงเห็นชอบแนวทางและมาตรฐานในการจัดเก็บสารพันธุกรรมดีเอ็นเอและข้อมูลนักโทษเด็ดขาด โดยยึดหลักความยินยอมเป็นหลัก”
เมื่อวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2565 กรมราชทัณฑ์ จัดการประชุมคณะกรรมการราชทัณฑ์ ครั้งที่ 3/2565 โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตลอดจนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ โดยมีนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมคณะผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ณ ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม 10-01 อาคารกระทรวงยุติธรรม
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการราชทัณฑ์ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวง ระบบการจัดชั้น การกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ. ..... โดยถือเป็นการดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกระบวนการจัดชั้นการเลื่อนชั้น การพักการลงโทษ ฯลฯ มุ่งเน้นให้ผู้ต้องขังเกิดความสำนึกและมีความพร้อมในการพัฒนาพฤตินิสัยเพื่อกลับตนเป็นคนดีมากกว่าแค่การเป็นผู้ประพฤติเรียบร้อยภายในเรือนจำเท่านั้น ทั้งนี้ สาระสำคัญในการปรับแก้ คือ การเพิ่มเติมการคงชั้น และการรักษาชั้น รวมถึงปรับปรุงเงื่อนไขคุณสมบัตินักโทษเด็ดขาดที่จะได้รับการพักการลงโทษ
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบแนวทางความร่วมมือในการจัดเก็บสารพันธุกรรมดีเอ็นเอและข้อมูลนักโทษเด็ดขาดในเรือนจำและทัณฑสถาน ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้มีความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ในการเก็บข้อมูลดีเอ็นเอผู้ใกล้พ้นโทษ โดยต้องอยู่ภายใต้หลักความยินยอมของนักโทษและจะต้องชี้แจงข้อมูลเหตุผลเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการดำเนินการให้นักโทษเด็ดขาดทราบในรายละเอียด
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการราชทัณฑ์ ยังได้รับทราบผลการดำเนินงานที่สำคัญของกรมราชทัณฑ์ในปีงบประมาณที่ผ่านมา และให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อนโยบายขับเคลื่อนกรมราชทัณฑ์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีทิศทางการบริหารงานราชทัณฑ์ภายใต้แนวคิด “เหลียวหลังแลไกลสู่อนาคตราชทัณฑ์” เน้นการสร้างฐานรากสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนากรมราชทัณฑ์ให้ยั่งยืนต่อไปในภายภาคหน้า ซึ่งประกอบด้วย “6 พื้นฐาน หรือ 6 เสาหลักสู่อนาคตราชทัณฑ์ (Key Foundations)” ได้แก่ 1.การขับเคลื่อนโครงการพระราชทานและโครงการอันเกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ 2.การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามมาตรฐานสากล 3.การปรับปรุงระบบทัณฑปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักทัณฑวิทยา 4.การสร้างความโปร่งใสโดยยึดหลักคุณธรรมและธรรมาภิบาล 5.การสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรเจ้าหน้าที่ และ 6.การส่งต่อผู้พ้นโทษและลดการกระทำผิดซ้ำ