“ราชทัณฑ์” ปลื้ม “เอกชน” ขานรับ “นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์”
อ้าแขนรับ “นักโทษ” ๑,๐๐๐ คน ร่วมเสริมกำลังการผลิต-ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหลังนำร่อง “สมุทรปราการ โมเดล” คืนคนดีสู่สังคม
“บริษัทชั้นนำ” จ่อรอรับเพิ่ม หลังสถานการณ์โควิด-๑๙ อีก ๓๐๐-๔๐๐ คน
เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๔ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องมนุษยชนและต้องการให้โอกาสผู้ต้องขังได้กลับตนเป็นพลเมืองดีของสังคมอีกครั้ง จึงได้ริเริ่มโครงการ “นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ คืนคนดีสู่สังคม เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง” ทั้งนี้ ภายหลังได้นำร่องโครงการที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นแห่งแรก ในโครงการ “สร้างงาน สร้างอาชีพ ฝึกทักษะการทำงานในภาคอุตสาหกรรม” หรือ “สมุทรปราการ โมเดล” ด้วยการทดลองนำผู้ได้รับการพักการลงโทษและถูกคุมประพฤติโดยติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ EM จำนวน ๑,๐๐๐ ออกไปทำงานในสถานประกอบการนิคมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความมั่นใจต่อภาคอุตสาหกรรมให้เห็นถึงศักยภาพของผู้ต้องขัง และช่วยเสริมกำลังการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงานในการขับเคลื่อนระบบการผลิต หลังจากเกิดปัญหาแรงงานต่างด้าวจำนวนมากถูกผลักดันให้กลับประเทศจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง ล่าสุด บริษัทเอกชนหลายแห่งได้ให้ความสนใจตอบรับผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษและ ติดอุปกรณ์ EM ไปทำงาน พร้อมจัดหาที่พักและสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัท ที่ติดต่อเข้ามายังกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอจ้างงานระยะยาวภายหลังจากสถานการณ์โรคโควิด-19 เข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งมีประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน
“การสร้างงานรวมถึงการให้ความรู้ทางวิชาชีพเป็นเรื่องสำคัญที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ติดตามใกล้ชิดและกำชับมาตลอดว่ากรมราชทัณฑ์ต้องทำให้เสร็จลุล่วง สิทธิของผู้ต้องขังต้องเสมอภาคเพราะเขาคือประชาชนคนไทยเช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อพ้นโทษพวกเขาต้องมีงานทำและสามารถเดินอยู่ในสังคมได้ มีงาน มีรายได้ ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ เฉกเช่นเดิม” นายอายุตม์ กล่าว
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังกล่าวด้วยว่าก่อนการส่งผู้ต้องขังเข้าทำงานในนิคมอุตสาหกรรม กรมราชทัณฑ์จะคัดเลือกผู้ต้องขังชั้นกลางขึ้นไปที่เข้าเกณฑ์ครบกำหนดปล่อยตัว เข้าโครงการเตรียมความพร้อมฝึกทักษะการทำงาน ๑-๒ ปี และเมื่อผู้ต้องขังผ่านการฝึกอบรมแล้ว จะได้รับการพิจารณาให้เข้าสู่โครงการพักการลงโทษ กรณี มีเหตุพิเศษด้านฝึกทักษะการทำงานในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อออกไปทำงานจริงในนิคมอุตสาหกรรม ภายหลัง การปล่อยตัวพ้นโทษและติดอุปกรณ์ EM ควบคู่กับการดูแลผู้กระทำผิดหลังปล่อยทั้งระบบ”
นายอายุตม์ กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวยังช่วยแก้ไขปัญหานักโทษล้นเรือนจำได้อีกด้วย เนื่องจากสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของผู้ต้องขังอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังอยู่ในความควบคุมดูแลจำนวน ๓๐๕,๔๔๗ คน ขณะที่ศักยภาพภายในเรือนจำและทัณฑสถานสามารถรองรับได้เพียง ๒๙๙,๐๔๘ คน กรมราชทัณฑ์จึงได้ดำเนินการการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เพื่อลดความแออัดที่จะส่งผลกระทบต่อการบริหารงานเรือนจำหลายๆ ด้าน อีกทั้งจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน คาดการณ์ว่าภายใน ๑๐ ปี จะมีอัตราการเพิ่มของผู้ต้องขังสูงขึ้น และในจำนวนนี้จะมีผู้พ้นโทษกลับมากระทำผิดซ้ำเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้กรมราชทัณฑ์จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวจะเพิ่มโอกาสให้ผู้พ้นโทษมีพื้นที่ยืนในสังคมมากขึ้น กลับไปเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สามารถเติมเต็มและขับเคลื่อนชุมชนเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืน ไม่ทำร้ายสังคมไม่กลับมากระทำผิดซ้ำ