หากเปรียบชีวิตเหมือนบทละคร เรื่องราวหนังสือทุกเล่มคงแตกต่างกันตามประสบการณ์มี สมหวัง ผิดหวัง ผ่านร้อนผ่านหนาว หัวเราะ ร้องไห้ หักมุมอย่างไม่คาดคิดหรือโชคชะตากลั่นแกล้ง
เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วย่อมดีเสมอ ถ้าคนๆ หนึ่งมีคุณพ่อเป็นต้นแบบเดินตามรอยเท้าและก้าวได้ไกลกว่าจะมีความรู้สึกอย่างไร
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ หรือ “ท่านซีโต้” (Seato) อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เกริ่นเล่าที่มาชื่อเล่นของตัวเองว่าเกิดวันเดียวกับวันก่อตั้ง องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีโต้ โดยคุณพ่อ “อำนวย สินธพพันธุ์” อดีตรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นคนตั้งชื่อให้ หมายถึงการรักษาสันติภาพ สำหรับครอบครัวเป็นข้าราชการ ทางบ้านอยากให้ลูกหลานเจริญรอยตาม
สมัยเด็กๆ บอกตามตรงไม่ชอบงานราชทัณฑ์เลย เราเห็นกำแพงคุกมาตั้งแต่จำความได้ขณะนั้นคุณพ่อทำงานในเรือนจำพิษณุโลก
ตอนพักเที่ยงถึงกลางวันจะมีผู้ต้องขังมาทำงานบริการสังคมสาธารณประโยชน์แถวบ้านพักข้าราชการเห็นจนชินตา
ถ้ามีการคุมตัวนักโทษส่งในเรือนจำกรุงเทพฯ ต้องขึ้นรถไฟ เราก็ต้องมาด้วยอาศัยหลับนอนบนขบวนหัวรถจักร ชีวิตโยกย้ายตามคุณพ่อไปเรือนจำกลางอุดรธานี เรือนจำจังหวัดสกลนคร
จึงไม่เป็นอาชีพที่ใฝ่ฝันและส่วนตัวชอบด้านกฎหมาย ผู้พิพากษา อัยการ อยากเรียนเนติบัณฑิตมากกว่า
ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเรือนจำร่วมกับ รมว.ยุติธรรม
ชีวิตก็เหมือนหนังสือถูกเขียนไว้ เมื่อสอบราชการครั้งแรกได้บรรจุที่ “กรมราชทัณฑ์” ส.ค.2528 ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ ระดับ 1 เรือนจำกลางฉะเชิงเทรา ดูแลผู้ต้องโทษในโรงงานจักรสานหวายแต่อยู่ได้ไม่นาน ขอทำเรื่องย้ายมาเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร สมัยก่อนอยู่ตรง ถ.มหาไชย (สวนรมนีนาถ ปัจจุบัน) เพราะติดเรียนเนติฯ สุดท้ายตัดสินใจเลือกงานราชทัณฑ์เหมือนคุณพ่อ ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งให้ทำงานหลายบทบาท
ทั้ง ผอ.กองแผนงาน , ผอ.กองการเจ้าหน้าที่ , ผอ.สำนักทัณฑวิทยา ออกแนววิชาการ เช่น เขียนตำรา สอนหนังสือ งานอำนวยการ ฯลฯ
กระทั่ง ต.ค.2554 มีโอกาสย้ายเป็น ผบ.เรือนจำพิเศษธนบุรี ชีวิตกลับมาอยู่ในรั้วลวดหนามอีกรอบ ครั้นมาถึงก็พบปัญหาใหญ่ คือ การลักลอบนำมือถือและยาเสพติดเข้าข้างในบ่อยมาก
จึงเร่งปราบปรามจริงจัง จนประกาศเป็นเรือนจำสีขาวในเวลาต่อมา
จากนั้น ย้ายแดนสนธยามาเป็น ผบ.เรือนจำกลางบางขวาง ช่วงสั้นๆ ก.พ.– ส.ค.2557 แก้ปัญหาโทรศัพท์มือถือเต็มคุกเหมือนเดิม ซึ่งเล็ดลอดเข้าไปได้เมื่อไหร่มูลค่าจะสูงมากและตามกวาดล้างไปได้เยอะ
พร้อมเอาผิดผู้คุมที่มีส่วนรู้เห็น แต่อยู่ได้ไม่ถึงปีก็เกิดการรัฐประหาร ตำแหน่งหน้าที่มีการสลับเปลี่ยนมาอยู่ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
เป็น ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร สมัยตัวเองและคุณพ่อ
“ส่วนตัวรู้สึกเหมือนกลับมาทำงานในบ้านหลังแรกเพราะเริ่มต้นเป็นผู้คุมจากเรือนจำแห่งนี้มาก่อน แม้ปัจจุบันย้ายสถานที่ใหม่ (แถวลาดยาว จตุจักร) มาเป็น ผบ.เรือนจำฯ ส.ค.2557 – ต.ค.2559 อีกอย่างที่ประทับใจเพราะคุณพ่อเคยเป็น ผบ.เรือนจำนี้เช่นกัน เวลาได้มองรูปภาพที่ติดอยู่ใน Hall of Fame จะเห็นทั้งตัวเองและพ่อ ทำให้เป็นความภูมิใจของครอบครัว ส่วนงานก็สำคัญเกี่ยวข้องคดีการเมือง ความมั่นคง ต้องดูแลปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม”
อธิบดี กล่าวความหลังเพิ่มเติมว่า อดีตเคยได้รับโอกาสนั่ง ผบ.เรือนจำฯ ที่เดียวกับคุณพ่อถึง 2 ครั้ง คือ เรือนจำกลางอุดรธานี และ เรือนจำกลางชลบุรี แต่ปฏิเสธเพราะหากย้ายมา คนเก่าต้องออกไปทำให้รู้สึกไม่สบายใจ คิดเหมือนใจเขาใจเรา อย่างไรก็มาลงเอยเป็น ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กันจนได้
"พูดได้เลยว่าอุทิศการทำงานราชทัณฑ์มาตลอดเกือบทั้งชีวิตรับราชการ แม้ปัจจุบันเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ คนที่ 36 เสมือนกลับมาตอบแทนบุญคุณ มองย้อนสมัยเรียนโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เป็นลูกหลาน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) และวันหนึ่งกลับมารับราชการหน่วยงานที่พระองค์ทรงสถาปนา ความรู้สึกได้ตอบแทนวิชาความรู้ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ"
ยังมีเวลาก่อนเกษียณปี 66 แม้สถานการณ์โควิด-19 ระบาดในเรือนจำค่อนข้างหนักช่วงที่ผ่านมาแต่ถือว่าดีขึ้นตามลำดับ
มีการสร้างห้องกักโรคป้องกันแพร่เชื้อเข้าข้างในเรือนจำอย่างทั่วถึง ปัจจุบันผู้ต้องขังฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว
แต่ยอมรับว่ามีผู้เสียชีวิตบ้าง สาเหตุจากป่วยโรคอื่นมาก่อนจึงทำให้อาการรุนแรงถึงขั้นสูญเสีย และตลอดชีวิตข้าราชการไม่เคยทุบตีนักโทษเลย บางรายก็ให้กำลังใจเพราะเชื่อว่าทุกคนเป็นมนุษย์ ทุกชีวิตมีค่า
ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ |