1. ยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาล
น่าจะเป็นวิธีที่เร็วที่สุดสำหรับผู้ต้องขัง ที่คดียังอยู่ใระหว่างการพิจารณาของศาล โดยเฉพาะคดีที่มีโทษจำคุกไม่มาก และเป็นคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติด ศาลอาจพิจารณาให้ประกันตัวในกรณีที่มีหลักทรัพย์ ค้ำประกันเพียงพอหรือมีเหตุผลอื่นในการให้ประกัน เช่น สูงอายุ เจ็บป่วยร้ายแรง
2. พยายามเลื่อนชั้นให้เร็ว และ หลีกเลี่ยงการถูกตัดชั้น
ผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้ว จะได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกมากหรือน้อยตาม "ชั้น"ของผู้ต้องขัง ดังนี้
- ชั้นเยี่ยม ได้ลดโทษ เดือนละ 5 วัน
- ชั้นดีมาก ได้ลดโทษ เดือนละ 4 วัน
- ชั้นดี ได้ลดโทษ เดือนละ 3 วัน
เรือนจำจะแบ่งชั้นของผู้ต้องขังออกเป็นชั้นต่างๆ 6 ชั้นคือ
ชั้นเยี่ยม ชั้นดีมาก ชั้นดี ชั้นกลาง ชั้นเลว และชั้นเลวมาก
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความประพฤติการปฏิบัติตามระเบียบของเรือนจำ และความตั้งใจในการฝึกวิชาชีพหรือเรียนหนังสือ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากพ้นโทษเร็ว ก็อย่าฝ่าฝืนระเบียบเรือนจำจนถูกตัดชั้น
3. ทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษ
ผู้ต้องขังสามารถยื่นทูลเกล้าขอพระทานอภัยโทษเป็นรายบุคคล และ อาจได้รับการพิจารณาเพื่อรับพระราชทานอภัยโทษ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันสำคัญต่างๆ เช่นวันเฉลิมพระชนม์พรรษา เป็นต้น
4. อาสาสมัครออกทำงานสาธารณะ
ผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดี และมีโทษจำคุกเหลือไม่มาก อาจได้รับการพิจารณาให้ออกมาทำงานสาธารณะนอกเรือนจำ เช่น การขุดลอกคูคลอง ท่อระบายน้ำ ซึ่งนอกจากจะได้รับเงินปันผลสูงถึง 80 % ของกำไรสุทธิจากรับจ้างงานสาธารณะแล้ว ผู้ต้องขังยังได้รับการลดโทษ เป็นจำนวนวันเท่ากับจำนวนวันที่ออกทำงานสาธารณะอีกด้วย
5. การขอพักการลงโทษ
เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ผู้ต้องขังออกจากเรือนจำได้เร็วกว่ากำหนด โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
- ต้องจำคุกมาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของกำหนดโทษ
- ถ้าเป็นคดีจำคุกตลอดชีวิต ต้องรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี
- ระยะเวลาของการพักโทษมีดังนี้
- ชั้นเยี่ยม ได้พักไม่เกิน 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ
- ชั้นดีมาก ได้พักไม่เกิน 1 ใน 4 ของกำหนดโทษ
- ชั้นดี ได้พักไม่เกิน 1 ใน 5 ของกำหนดโทษ
ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามได้ที่ ส่วนพักการลงโทษ สำนักทัณฑปฏิบัติ
กรมราชทัณฑ์ โทร. 0-2967-3371 , 0-2967-3372 หรือสอบถามได้ที่เรือนจำทุกแห่ง