Image

ที่ มท 0908/ว 5

กรมราชทัณฑ์
222 ถนนนนทบุรี 1 ตำบลสวนใหญ่
อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000

14 มกราคม 2545


เรื่อง การควบคุมและป้องกันวัณโรค
เรียน ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บัญชาการเรือนจำ และผู้อำนวยการทัณฑสถาน สถานกักกัน และสถานกักขัง
อ้างถึง

1. หนังสือกรมราชทัณฑ์ ที่ มท 1008/ว.83 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2530
2. หนังสือกรมราชทัณฑ์ ที่ มท 1008/ว.5 ลงวันที่ 6 มกราคม 2535
3. หนังสือกรมราชทัณฑ์ ที่ มท 0908/ว.81 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2540

สิ่งที่ส่งมาด้วย

1. ตัวอย่างแบบบันทึกประวัติผู้ต้องขังป่วยวัณโรค TB 01
2. ตัวอย่างสมุดทะเบียนการบันทึกผลการชันสูตรเสมหะ TB 04
3. ตัวอย่างทะเบียนผู้ป่วยวัณโรค TB 03
4. ตัวอย่างรายงานรอบ 4 เดือน TB 07 TB 07/1 และ TB 08
5. ตัวอย่างแบบฟอร์มการส่งต่อผู้ป่วยวัณโรค TB 09
6. ตัวอย่างสมุดกำกับการส่งต่อผู้ป่วยวัณโรค TB 10

ตามหนังสือที่อ้างถึง กรมราชทัณฑ์ได้กำหนดแนวทางให้เรือนจำและทัณฑสถานปฏิบัติ เกี่ยวกับการควบคุมและป้องกันวัณโรคในเรือนจำ เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของวัณโรคและกล วิธีในการควบคุมเปลี่ยนไป กรมราชทัณฑ์ จึงยกเลิกหนังสือที่อ้างถึง และให้เรือนจำ/ทัณฑสถานถือปฏิบัติ ตามแนวทาง ดังต่อไปนี้

1. ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบค้นหาผู้ป่วยวัณโรคโดยการตรวจผู้ต้องขังใหม่ทุกคนและ ผู้ต้องขังเก่า หากพบผู้ที่มีอาการไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ ผู้ที่มีประวัติเคยป่วยเป็นวัณโรค ผู้ป่วยวัณโรคเก่าที่ ขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือผู้ต้องขังที่สงสัยจะป่วยเป็นวัณโรค ให้เก็บเสมหะส่งตรวจ โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ การส่งตรวจเสมหะทั้งผู้ต้องขังใหม่เพื่อการวินิจฉัยและผู้ต้องขังป่วยเก่า กรณีติดตามผล ให้บันทึกการส่งตรวจและผลการตรวจในสมุดทะเบียนการบันทึกผลการชันสูตรเสมหะ

2. เมื่อผู้ต้องขังคนใด เสมหะตรวจพบเชื้อวัณโรคและแพทย์ให้การบำบัดรักษา ให้ เจ้าหน้าที่ดำเนินการขึ้นทะเบียนการรักษา โดยบันทึกข้อมูลในแบบบันทึกผู้ป่วยวัณโรค TB 01 และ TB 03

3. กรณีผู้ต้องขังตรวจพบเชื้อวัณโรค หรือตรวจไม่พบเชื้อวัณโรค แต่ยังมีอาการที่ สงสัยจะป่วยเป็นวัณโรค แพทย์อาจจะนัดผู้ป่วยออกไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและเอกซเรย์ปอด ให้ปฏิบัติตามระเบียบการส่งตัวผู้ต้องขังป่วยไปตรวจรักษายังโรงพยาบาลภายนอก

4. ให้เจ้าหน้าที่ดูแลให้ผู้ต้องขังป่วยรับประทานยาต่อหน้าเจ้าหน้าที่ทุกมื้อ จนครบ ตามแผนการรักษาและเก็บเสมหะส่งตรวจเพื่อติดตามผลเป็นระยะ ๆ ตามแผนการรักษาด้วย

5. ผู้ต้องขังป่วยวัณโรคโดยเฉพาะในระยะแพร่เชื้อ (ระยะ 2 เดือนแรกของการรักษา) ควรแยกขังจากผู้ต้องขังทั่วไป เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น หากไม่มีห้องแยก ควรจัดสถานที่แยกตามความเหมาะสมกับสภาพของเรือนจำ/ทัณฑสถาน

6. เมื่อมีการขึ้นทะเบียนการรักษาและประเมินผลเป็นระยะ ๆ ให้จัดทำรายงานตามแบบรายงาน TB 07 TB 07/1 และ TB 08 ส่งทุก ๆ 4 เดือน ดังนี้

6.1 งวดที่ 1 เดือนตุลาคม มกราคม รายงานภายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์

6.2 งวดที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์ พฤษภาคม รายงานภายในวันที่ 5 มิถุนายน

6.3 งวดที่ 3 เดือนมิถุนายน กันยายน รายงานภายในวันที่ 5 ตุลาคม

7. ในกรณีที่ผู้ต้องขังป่วยยังอยู่ระหว่างการรักษา และยังรับประทานยาไม่ครบตาม แผนการรักษาไม่ควรย้ายผู้ต้องขังไปคุมขังที่เรือนจำอื่น หากมีความจำเป็นต้องย้ายหรือผู้ต้องขังพ้นโทษ ให้ จัดทำหนังสือส่งต่อผู้ป่วยวัณโรค TB 09 มอบให้ผู้ต้องขังเพื่อแจ้งเรือนจำ/ทัณฑสถาน หรือโรงพยาบาลที่ รับตัวไว้ทราบด้วย

8. เรือนจำและทัณฑสถานที่รับส่งต่อผู้ต้องขังป่วยวัณโรคให้รายงานการรับตัวและ ผลการรักษาให้เรือนจำ/ทัณฑสถานต้นทางที่ส่งต่อมาด้วย

9. ในระหว่างการรักษาจะมีผู้ต้องขังป่วยวัณโรคโอนออกเนื่องด้วยสาเหตุการย้าย เรือนจำและกรณีพ้นโทษ ให้บันทึกข้อมูลลงในสมุดกำกับการส่งต่อผู้ป่วยวัณโรค TB 10 รวบรวมส่ง กรมราชทัณฑ์ทุกงวด พร้อมกับรายงานในข้อ 6

10. ในการดำเนินงานควบคุมและป้องกันวัณโรค หากมีปัญหาข้อสงสัยสามารถ ประสานงานกับโรงพยาบาล ศูนย์วัณโรค หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ได้

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและขอได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
อาทิตย์ โพนทอง
(นายอาทิตย์ โพนทอง)
รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทน
อธิบดีกรมราชทัณฑ์


กองบริการทางการแพทย์
กลุ่มงานเวชกรรมป้องกัน
โทร 0-2967-3353 โทรสาร 0-2967-3350

  • Dep Curr
  • DOC02
  • Gpo
  • Asso
  • การเยี่ยม
    mini logo

    ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
    33/2 ถนนงามวงศ์วาน เขตจตุจักร กรุงเทพ 10900 
    อีเมล:hosdoc.mci@gmail.com
    โทร.: 0-2953-3999

     
    Follow Us :