ในขณะที่กระแสไฟฟ้าสามารถทำให้หัวใจหยุดเต้น เราก็สามารถเอากระแส ไฟฟ้ามาทำให้หัวใจของคนไข้ที่หยุดเต้นกลับมาเต้นใหม่ได้ หลักการของเครื่องกระตุ้นหัวใจมีอยู่นิดเดียว.......คือมันจะปล่อยกระแส ไฟฟ้าเข้าไปจัดระเบียบสังคม....เอ๊ย....จัดระเบียบการหดตัวของเซลกล้ามเนื้อหัวใจทุกเซลใหม่ ให้ทุกเซลหดตัวพร้อมๆกันอย่างมีระเบียบและเป็นจังหวะสม่ำเสมอ....
เคยดูภาพยนต์ทีวีชุดเรื่อง ER หรือ ห้องฉุกเฉินหรือเปล่าครับ คนไข้ถูกเข็นเข้ามาในห้อง หัวใจเพิ่งจะหยุดเต้น หมอมีเวลาไม่กี่นาทีที่จะช่วยชีวิตก่อนที่สมองจะตายเพราะขาดเลือดไปเลี้ยง..เขาอาศัยเครื่องมือแบบในรูปนี้แหละครับ มีขั้วจ่ายไฟฟ้าอยู่ที่มือทั้งสองข้าง กดลงไปที่หน้าอกคนไข้ ตะโกนว่า " เคลียร์ !! "แล้วก็กดปุ่ม ......เท่านั้นเอง.คนไข้ก็รอดตาย ลุกขึ้นมานั่งคุยจ้อ......แต่นั่นมันในหนังทีวีครับ.....
ในโลกแห่งความเป็นจริง คนไข้ที่อาการหนัก จนถึงขั้นที่ต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้านั้น ส่วนใหญ่..ตายมากกว่ารอด !!
อย่างไรก็ตาม...เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า ก็ยังมีความจำเป็นในการช่วยชีวิตคนไข้ที่หัวใจหยุดเต้น หรือใกล้จะหยุดเต้น ชนิดที่เรียกว่า... ใช้เครื่องนี้กับคนไข้ 10 คน ตายไป 7 รอดมา 3 ก็ยังถือว่าคุ้มค่าไฟ (ต่อให้รวมค่า FT ด้วย ก็ยังคุ้ม)
ปัจจุบันนี้ โรคหัวใจคร่าชีวิตของคนอเมริกันไปปีละประมาณ 350,000 คน ในจำนวนที่เสียชีวิตนี้ คาดกันว่า จะมีไม่ต่ำกว่า 100,000 คน จะรอดได้ถ้าสามารถใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจได้ทันการณ์
เครื่องนี้ทำงานได้อย่างไร
เรารู้กันมานานแล้ว ว่าไฟฟ้าเป็นอันตรายถึงตายได้ (ถ้าไม่เชื่อ ลองไปถามญาติคนที่ถูกฟ้าผ่าตายดูก็ได้) จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1947 มีศัลยแพทย์คนหนึ่ง ชื่อ Claude Beck ที่คิดไม่เหมือนกับชาวบ้าน เขาลองเอาไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้าน ซึ่งมีความถี่ 60 เฮิร์ทซ์ ไปกระตุ้นหัวใจคนไข้ที่หยุดเต้นในขณะที่กำลังถูกผ่าตัดผลปรากฏว่า...ตายเรียบทั้ง 6 ราย แต่รายที่ 7 รอด !! ตั้งแต่นั้นเป็นเป็นต้นมา ก็มีการพัฒนาเครื่องกระตุ้นหัวใจกันอุตลุต จนในปี ค.ศ.1956 ถึงได้เพิ่งรู้ว่า กระแสไฟฟ้ากระแสตรง กระตุ้นหัวใจได้ดีกว่ากระแสสลับ เครื่องกระตุ้นหัวใจที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ใช้ไฟฟ้ากระแสตรงที่ถูกชาร์จเก็บไว้ในตัวเก็บประจุ แล้วปล่อยเข้าสู่ร่างกายคนไข้ ครั้งละ 3 ถึง 9 ส่วนพันของวินาที โดยใช้พลังงานครั้งละ 200 - 400 จูลส์ ซึ่งกระแสไฟฟ้าขนาดนี้จะพอเหมาะที่จะกระตุ้นเซลของ กล้ามเนื้อหัวใจให้หดตัวพร้อมๆกัน เพื่อสูบฉีดเลือดโดยไม่เป็นอันตรายต่อเซลอื่นๆของร่างกาย หลังจากการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าแล้วจะเห็นได้ว่า คลื่นไฟฟ้าของหัวใจซึ่งเต้นไม่เป็นจังหวะก็จะกลับมาเป็นปกติได้
โรคอะไรบ้างที่ควรจะใช้เครื่องนี้
เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า เหมาะสำหรับใช้กับคนไข้โรคหัวใจหลายชนิด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เส้นเลือดหัวใจอุดตัน หัวใจหยุดเต้นเนื่องจากการแพ้ยา จมน้ำ การถูกไฟฟ้าช็อต ฯลฯเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้านี้ นอกจากจะมีชนิดกระตุ้นจากภายนอกแล้ว ยังมีชนิดที่ถูกผ่าตัดฝังไว้ภายในร่างกายของคนไข้โรคหัวใจ ซึ่งเครื่องดังกล่าวจะทำหน้าที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ มากระตุ้นหัวใจให้เต้นอยู่ตลอดเวลา และสามารถทำงานอยู่ภายในร่างกายคนเราได้นานหลายปี
การใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าสามารถทำได้แม้แต่ที่ชายหาดเพื่อช่วยชีวิตผู้จมน้ำ |
ภาพเอ็กซ์เรย์ของผู้ต้องขังของทัณฑสถานหญิงซึ่งได้รับการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจไว้ที่หน้าอกด้านซ้าย |