ผู้ต้องขังอาจคิดสั้นเมื่อไหร่ก็ได้ แต่...ผู้ต้องขังบางกลุ่ม มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายในเรือนจำสูงกว่ากลุ่มอื่น...ต้องระวัง !!
ผู้ต้องขังแรกรับ เป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากยังปรับตัวไม่ได้มีความเครียดสูง กังวลเรื่อคดีเป็นห่วงครอบครัวฯลฯ ในการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังหรือสัมภาษณ์ผู้ต้องขังแรกรับนั้น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่มีไหวพริบ และประสบการณ์ถ้าพิจารณาเห็นว่าผู้ต้องขังรายใดควรเฝ้าระวัง ต้องลงบันทึกในประวัติและแจ้งผู้เกี่ยวข้องทราบ
ผู้ต้องขังโทษสูง นอกจากจะก่อปัญหาหลบหนี แล้ว ผู้ต้องขังกลุ่มนี้จะมีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูงด้วย ในบางประเทศ ผู้ต้องขังโทษสูงที่ถูกกักขังอยู่ในเรือนจำความมั่นคงสูง มักจะถูกขังเดี่ยวหรือมีจำนวนชั่วโมงที่ถูกปล่อยตัวออกจากห้องน้อย จึงมีความเครียดค่อนข้างมาก
ผู้ต้องขังติดเชื้อเอดส์ มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายสูงมาก ต้องระวังกลุ่มที่เพิ่งทราบผลการตรวจเลือด และกลุ่มที่เป็นผู้ป่วยเอดส์ระยะสุดท้าย สถิติจากอเมริกาพบว่า ผู้ติดเชื้อเอดส์มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าประชากรทั่วไปถึง 66 เท่า !!
ผู้ต้องขังที่ถูกเปลี่ยนสถานภาพกระทันหัน เช่น ถูกย้ายเรือนจำ ย้ายแดน ย้ายห้องขังถูกแยกขังเพราะทำผิดระเบียบเรือนจำ ได้รับคำพิพากษาที่ผิดไปจากที่คาดไว้ ถูกปฏิเสธการยื่นขอประกันตัว ถูกตัดชั้น ถูกตัดการเยี่ยมญาติ ฯลฯ
ผู้ต้องขังพิการ เจ็บป่วย ผู้ต้องขังที่พิการ เป็นอัมพาต ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคที่รักษาไม่หาย รวมทั้งโรคที่มีอาการเจ็บปวดทรมานมีแนวโน้มที่จะคิดสั้นได้ตลอดเวลา
ผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยทางด้านจิตใจ ที่พบมากคือผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้า โรคจิตเภท บุคคลิกแปรปรวน เป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการเอาใจใส่มาก รวมทั้งผู้ต้องขังสูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าได้ง่าย อย่าลืมว่า 20%ของคนที่พยายามฆ่าตัวตายจะมีภาวะซึมเศร้าและ 50-80 %ของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จก็มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้าด้วย
ผู้ต้องขังที่ติดยาเสพย์ติด จากการศึกษาพบว่าผู้ติดยาเสพย์ติดมีสถิติการฆ่าตัวตายสูงกว่าประชากรทั่วไป 5-20 เท่า ส่วนผู้ต้องขังที่ติดยาเสพย์ติดมักพบว่ามีปัญหาทำร้ายตนเองเพื่อหาทางย้ายออกจากเรือนจำไปอยู่โรงพยาบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหนีปัญหาเป็นหนี้ค่ายาเสพย์ติดและบางรายก็เครียดจัดถึงขั้นฆ่าตัวตาย