ผู้ต้องขังมีความเครียดสูงกว่าคนที่อยู่นอกเรือนจำหลายเท่า แต่.... อัตราการฆ่าตัวตายภายในเรือนจำของไทยค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอีก หลายๆประเทศ .....เพราะ .....
องค์การอนามัยโลกประมาณการว่า ในแต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้ฆ่าตัวตาย 400,000 คนหรือ 1,100 คนต่อวัน ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่ามีอัตราฆ่าตัวตาย 8.0 ต่อประชากร 1 แสนคน
(เฉลี่ย จากสถิติ 4 ปี : 2540-2543)
ส่วนสถิติการฆ่าตัวตายของผู้ต้องขังนั้น พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
แหล่งข้อมูล | ประชากร | ในระยะเวลา | สถิติฆ่าตัวตาย (ต่อ1แสนคนต่อปี) |
กรมราชทัณฑ์ ไทย | ผู้ต้องขังทั้งประเทศ | 4 ปี (2540-2543) | 8.5 |
กรมราชทัณฑ์ รัฐเท็กซัส | ผู้ต้องขังรัฐเท็กซัส | 6 ปี (2523-2528) | 18.6 |
กรมราชทัณฑ์ รัฐหลุยส์เซียนา | ผู้ต้องขังรัฐหลุยส์เซียนา | 10 ปี (2527-2536) | 19.4 |
กรมราชทัณฑ์ รัฐเพนซิเวเนีย | ผู้ต้องขังรัฐเพนซิเวเนีย | 10 ปี (2527-2536) | 25.9 |
กรมราชทัณฑ์ แคนาดา | ผู้ต้องขังแคนาดา | 6 ปี (2534-2539) | 11.8(ต่อ 1 หมื่นคน) |
วิธีฆ่าตัวตายที่ใช้มากที่สุดในเรือนจำของไทยคือ การแขวนคอ รองลงมาคือกระโดดจากที่สูง ส่วนวิธีที่มีผู้ต้องขังพยายามใช้ แต่ไม่สำเร็จ คือ ใช้ของมีคม กินยาหรือสารเคมี
ปัจจัยที่ทำให้ผู้ต้องขังคิดฆ่าตัวตายนั้น มีมากมายไม่น้อยไปกว่าโลกภายนอก แต่บางปัจจัยก็ทำให้ฆ่าตัวตายสำเร็จยาก เช่น
- ผู้ต้องขังมีโอกาสอยู่คนเดียวน้อยมาก เพราะความแออัดในเรือนจำทำให้ต้องนอนรวมกัน
- อุปกรณ์ฆ่าตัวตาย เช่น มีด อาวุธ รวมทั้งปัจจัยส่งเสริมให้คิดสั้น เช่น แอลกอฮอล์ เป็นสิ่งของต้องห้ามในเรือนจำ
- ถึงจะมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ แต่ผู้ต้องขังทุกคนก็ได้รับปัจจัย 4 จากกรมราชทัณฑ์ ปัญหาเรื่องหนี้สินจากการเล่นหวย พนันบอล มวย ฯลฯ เกิดขึ้นได้ยากกว่าโลกภายนอก
- การฆ่าตัวตายวิธีอื่นๆ เช่น ยิงตัวตาย กระโดดน้ำ กระโดดให้รถทับ ฯลฯ ไม่เกิดในเรือนจำ
"...ถ้าปัจจัยเสี่ยงมีน้อยอย่างนี้ ก็ไม่ต้องไปกังวล...."
"...ไม่จริงครับ...ตราบใดที่ยังมีการฆ่าตัวตายในเรือนจำอยู่ ก็ยังวางใจไม่ได้ หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ คือดูแลให้ผู้ต้องขังอยู่รอดปลอดภัยจนถึงวันพ้นโทษและพร้อมที่จะกลับตัวเป็นคนดี..."